คนที่ทำช่อง YouTube กันมาสักพักคงจะรู้กันว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรมาบ้าง กว่าจะเปิดทำเงินได้อาจใช้เวลา 4-6 เดือนหรือบางช่องก็เป็นปีด้วยซ้ำ พอเปิดทำรายได้เสร็จ เราก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษาให้ช่องได้เติบโตต่อไป
แน่นอนที่ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่จะโฟกัสกันแต่ “ยอดวิว” และ “ผู้ติดตาม” มากเกินไปจนทำให้พวกเขารู้สึกว่าการทำช่องของตนเองนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าและมองไม่เห็นว่าจะโตไปได้กว่านี้ ยิ่งเห็นยอดวิวโตน้อย คนกดติดตามโตช้า ก็ยิ่งบั่นทอนกำลังใจ
วันนี้เราขอเสนอข้อคิด 12 ข้อที่ควรจะ “หลีกเลี่ยง” สำหรับคนที่ต้องการอุทิศตนให้กับการทำช่อง YouTube แบบจริง ๆ จัง ๆ
1.คิดว่าจะต้องประสบความสำเร็จในทันที
ใช้เวลาพิสูจน์ “คุณค่า” ของช่องให้กับคนดู
“คุณค่า” ที่คอนเทนท์ของเราให้กับคนดู “มาก่อน” ความสำเร็จของช่อง ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มฟรี ที่มีคนเข้ามาดูคอนเทนท์กว่า 30 ล้านคนต่อวัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะประสบความสำเร็จได้ เราจะต้องสร้างคุณค่าให้กับคอนเทนท์ของเราเอง โดยคอนเทนท์จะต้องส่งผลกระทบกับอารมณ์หรือชีวิตของคนดู
ถ้าเรามัวแต่คิดว่าของที่เราทำออกมาจะต้องได้รับคำชม ต้องมีคนมาดูมากกว่าคลิปของคนนั้นหรือคนนี้ การที่เอาตนเองไปเปรียบกับช่องอื่นหรือคอนเทนท์ที่คนอื่นทำนั้นถือว่าเป็นการคิดที่ผิด เพราะว่าเรากำลังโฟกัสผิดจุด สิ่งที่เราต้องโฟกัสไม่เกี่ยวกับการได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัล แต่มันคือ คนดูของเราเท่านั้น
2.ลบคอนเทนท์ออกจากช่อง
เหตุผลสองอย่างที่ไม่ควรลบคอนเทนท์ออกจากช่อง คือ
- การลบคอนเทนท์ออกจากช่องจะทำให้ (Metrics) หน่วยชี้วัดของช่องเสียหาย เพราะการลบวิดีโอก็จะหมายความว่ายอดวิว และ ระยะเวลาที่คนมารับชมวิดีโอหายไปด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมากถ้าหากช่องของเรายังไม่ผ่านกระบวนการเปิดทำเงิน
- อย่าลบคอนเทนท์เก่าๆ ที่ไม่อยากให้คนเห็นเพราะว่าอาย อยากให้ลองดูช่อง MrBeast (ยูทูปเบอร์ คนอเมริกัน มีคนติดตามช่อง 30 ล้านคน) เป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าเขาก็มีวิดีโอที่ทำออกมาได้ไม่ดีเหมือนกัน สิ่งนี้มันทำให้คนดูได้เห็นว่าช่องของ MrBeast เติบโตขึ้นแค่ไหน จากที่เขาไม่มีอะไรเลยจนตอนนี้เขากลายเป็นหนึ่งในครีเอเตอร์ที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดคนหนึ่ง และวีดิโอเก่า ๆ คือความทรงจำและการเดินทางร่วมกันระหว่างช่องและแฟนๆ
3.มองข้ามคุณภาพของเสียงในคลิป
สิ่งแรกที่ควรลงทุนหากมีงบเพิ่มอาจไม่ใช่เรื่องภาพ แต่คือเรื่องเสียง ความละเอียดของวิดีโออาจจะไม่ต้องชัดถึงขนาดนั้น กล้องอาจจะสั่นไหวบ้าง ไฟไม่ถึงกับต้องสวยเพอร์เฟก แต่เมื่อเสียงของวิดีโอฟังไม่ลื่น เสียงแตก เดี๋ยวดังเดี๋ยวเบา เตรียมใจได้เลยว่าคนดูจะปิดวิดีโอนั้นหลังดูได้ไม่นาน
4.สร้างคอนเทนท์ที่หลุดจากแนวของตนเอง
บ่อยครั้งที่จะเกิดอาการ “หลุดโฟกัส” กับแนวทางของช่องหรือให้อิสระกับตนเองมากไป เช่น กำลังสร้างคอนเทนท์แนวหนึ่งอยู่ดี ๆ ก็ตัดสินใจที่จะทำอะไรแตกต่างแหวกแนวออกไปจากเดิม แต่แนวใหม่ดันทำยอดวิวได้ดีกว่าของเดิมเสียอย่างนั้น ก็เลยเกิดความรู้สึกลังเลว่าจะเปลี่ยนมาทำวีดิโอแบบหลังที่ได้ยอดวิวเยอะกว่า หรือจะสานต่อคอนเทนท์ที่ตั้งใจทำตั้งแต่แรกเพื่อคนดูกลุ่มเดิมดีนะ
ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากที่เราจะเคยตัวและเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นวีดิโอที่เพิ่งทำมียอดวิวไม่ดี จนสุดท้าย กลายเป็นช่องจับฉ่ายที่ไม่มีกลุ่มคนดูที่ชัดเจนสักแบบ
5.อัพโหลดแบบตามใจฉัน
การไม่มีตารางลงคอนเทนท์ทำให้เราสูญเสียความทุ่มเทให้กับช่อง ที่แย่กว่านั้นคือคนดูที่เราไปบอกว่าจะเจอวีดิโอใหม่เราทุกวันพุธต้องผิดหวัง อย่างน้อยเราควรมีตารางหลวม ๆ ให้กับตัวเอง การที่เราได้หยิบตารางคอนเทนท์มาดูยังเป็นการกระตุ้นและเตือนให้เราจัดการเวลาของเราให้ดี และที่สำคัญที่สุดคือการทำวีดิโอเผื่อไว้ในกรณีที่มีเหตุเร่งด่วนหรือจำเป็นให้ต้องไปทำธุระอย่างอื่น
6.ทิ้งช่วงการลงวีดิโอนานเกินไป
หลายช่องที่จำนวนยอดคนติดตามมีถึง 10,000 – 20,000 คน แต่ว่ายอดวิวของวิดีโอล่าสุดนั้นแทบไม่ถึง 300 วิวด้วยซ้ำ ในขณะที่เลื่อนไปหาวิดีโอเก่าๆเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วกลับพบว่ามียอดวิวถึงหลายหมื่นหลายแสนวิว เหตุผลก็คือพวกเขาหยุดทำ YouTube ไปเป็นเวลานานมากและระบบหลังบ้านของ YouTube มีการเปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืมคือ YouTube ต้องการให้คนดูกลับมาดูวีดิโอเรื่อยๆ ให้คนดูกลับมาดูนานๆ เพราะฉะนั้นเมื่อของในช่องเราไม่มีอะไรใหม่ๆ YouTube ก็ต้องส่งของจากช่องอื่นไปให้คนดูได้เสพ สุดท้าย วีดิโอเราจะหายไปจาก History ของคนดู ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ algorithm ของ YouTube ใช้ในการแนะนำวีดิโอ
พักสักหนึ่งอาทิตย์ สองอาทิตย์ก็ไม่เป็นอะไรหรอกนะ เราเข้าใจว่ามันเหนื่อย แต่อย่าให้ถึงกับ 6 เดือนหรือ 1 ปีเลย
7.แลกผู้ติดตามกับช่องอื่น
การแลกผู้ติดตามคือการติดตามช่องของกันและกัน เราจะเห็นคนที่กำลังสร้างช่องตนเองให้โตทำแบบนี้กันเยอะมาก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครหลายคนมักจะเข้าใจผิด เพราะด้วยธรรมชาติของคนที่มาติดตามช่องของเราแล้ว หมายความว่าคนดูเหล่านั้นชอบคอนเทนท์ของเรา อยากติดตามเราเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะทำคลิปอะไรอีก ครั้งต่อไปเมื่อเราโพสต์วิดีโอลงบนช่อง ก็มีแนวโน้มสูงที่เขาจะเข้ามาดู ในทางตรงกันข้าม การที่เราไปแลกซับมากับคนที่ไม่เคยสนใจหรืออยากดูช่องเรา จะทำให้สัดส่วนระหว่างยอดวิวและผู้ชมผิดแปลกไป ทำให้เราวิเคราะห์หรือทำความเข้าใจช่องได้ยาก
ยิ่งไปกว่านั้น การแลกซับยังถือเป็นข้อห้ามของ YouTube อีกด้วย
8.จงใจเลียนแบบช่องอื่น
เวลาคนดูเลือกที่จะกดติดตามช่องใดช่องหนึ่ง เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขารู้สึกชอบคอนเทนท์ของช่องนั้น ช่องนั้นให้คุณค่ากับความรู้สึกของเขาและสิ่งที่ช่องนั้นทำให้เขารู้สึกมันหาจากช่องอื่นไม่ได้ สิ่งที่เราต้องตระหนักไว้ก็คือ หากเราคิดจะเลียนแบบช่องอื่น คนดูก็จะเกิดคำถามในใจว่า พวกเขาจะติดตามช่องของเราทำไมก็ในเมื่อช่องอื่นผลิตคอนเทนท์ออกมาได้ดีกว่าคุณด้วยซ้ำ
นั่นคือเหตุผลว่าทำไม เราถึงต้องเลือกที่จะเป็นตัวของตนเอง เพราะทันทีที่กดปุ่มบันทึก เวลาที่ต้องอยู่หน้ากล้องมันเหมือนความรู้สึกตอนออกไปพูดอยู่หน้าเวที มันทั้งตื่นเต้น กดดัน จะทำได้ดีไหมนะในการเป็นตัวเอง จนทำให้เราอยากเปลี่ยนตัวตนให้เหมือนคนที่เราชอบ ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จำไว้ว่าจงเป็นตัวของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใส่ไอเดียแปลกๆใหม่ๆ ผ่านการตัดต่อวิดีโอบทเรียนที่ดีที่สุด จะเกิดจากการที่เราขยันสร้างคอนเทนท์อย่างไม่ลดละ
9.ฝากชีวิตและผลงานไว้กับ YouTube ที่เดียว
จริงอยู่ที่ว่าเราควรที่จะโฟกัสที่ YouTube แต่ถ้าให้พูดกันตามตรงก็คือ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆอัพเดทตลอดเวลา เช่นล่าสุดคือ COPPA และ FTC ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา การที่เรามีวิดีโออยู่บน YouTube แค่ที่เดียวนั้นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาอาจเสียเปล่าได้
ถ้าหากเราอยากจะสร้างคอนเทนท์ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ควรที่จะจำกัดตนเองอยู่แค่บน YouTube ที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีแบรนด์เป็นของตนเอง เราจะได้ฝึกปรือทักษะหลายอย่างในแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องครอบคลุมมากกว่าแค่ YouTube
10.ตั้งคำถามผิดประเด็น
คนที่ทำช่อง YouTube มักจะถามคำถามที่คล้ายๆ หรือเป็นคำถามเดียวกัน คือ
- จะทำให้ช่องโตยังไงได้บ้าง?
- ทำยังไงให้ Subscriber เยอะขึ้นได้บ้าง?
- ทำยังไงให้ยอดวิวพุ่ง?
เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่าการถามคำถามที่จะเจาะกว่านี้จะช่วยให้หาคำตอบแก่ปัญหาของเขาได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น ครีเอเตอร์ทุกคนควรหาข้อมูล เรียนรู้ที่จะเข้าใจการวิเคราะห์ช่อง YouTube เบื้องต้นให้เป็น หาข้อมูลเพิ่มเติมว่า CTR คืออะไร? ทำไม Thumbnail บางอันถึงดีกว่าอันอื่น?
คำถาม 3 คำถามด้านบนจะมีความสำคัญแค่ตอนก่อนจะเปิดสร้างรายได้บน YouTube เท่านั้น ถ้าหากเราอยากจะเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ตัวจริงล่ะก็ เราต้องเรียนรู้ที่จะถามคำถามที่ลึกหรือเจาะจงกว่านี้ให้ได้ จากนั้น เราจะสามารถแลกเปลี่ยนไอเดียกับคอนเทนท์ครีเอเตอร์เจ้าอื่นๆ ได้ด้วยความเข้าใจที่ใกล้เคียงกัน
11.ฟังคำแนะนำจากคนผิด ๆ
มีสารพัดคนที่เรียกตัวเองเป็นกูรูและตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับ YouTube การทำช่อง YouTube ออกมาหลากหลายแบบ บางแบบก็ค่อนข้างที่จะเสี่ยงต่อการผิดกฏเกณฑ์ของ YouTube และไม่ปลอดภัยหรือยั่งยืนเท่าไหร่ ถ้าได้ยินคำแนะนำหรือวิธีการประเภท “เนี่ย ทำแค่นี้พอ… แบบนี้เป๊ะๆ เลยนะ… เดี๋ยวยอดวิวพุ่ง ยอดซับกระฉูดแน่นอน เชื่อพี่” ก็อยากให้ระวังคำแนะนำประเภทนี้กันสักหน่อย
จงมองหาคนที่เกริ่นก่อนให้คำแนะนำว่า… “ช่องของน้องจะเติบโตของในเวลาของมัน ไม่มีใครสามารถการันตีผลลัพธ์ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เราจะต้องทำงานหนักในฐานะคนสร้างคอนเทนท์ เพื่อที่จะให้ช่องเติบโต” ถ้าคนที่แนะนำเรามีคำพูดประมาณนี้ ให้เชื่อเขาเถอะ เพราะว่าพวกเขาผ่านอุปสรรคอะไรพวกนี้มาก่อนแล้ว และคำแนะนำของพวกเขาจะมีประโยชน์ต่อเราอย่างแน่นอน
12.ความล้มเหลวไม่ได้แย่เสมอไป
เวลาเริ่มทำช่อง YouTube คนส่วนใหญ่จะคิดว่ามันต้องออกมาเพอร์เฟคไปซะหมด ความจริงคือทุกทุกช่องย่อมต้องมีข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นช่องเล็กหรือช่องใหญ่ อย่ามองความผิดพลาดเป็นเรื่องเลวร้าย ระลึกไว้ว่าเราสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและปรับตัวได้เสมอ
ไม่ว่าเราจะใช้อุปกรณ์ราคาแพงเท่าไหร่สำหรับช่อง แต่ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าประสบการณ์ที่เรากำลังสะสม ยิ่งทำคอนเทนท์เยอะขึ้น อัพโหลดวิดีโอมากขึ้น ลองวิเคราะห์ช่องและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนๆ ของเรามากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ที่เก่งขึ้นได้มากเท่านั้น
ที่มา – The Uploaders